อาจารย์จิรวัฒน์ สุขแก้ว และอาจารย์อภิวัฒน์ ปันทะธง อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิกและมัลติมีเดีย เจ้าของโครงการและผู้ร่วมวิจัยโครงการ “พระพุทธปฏิมาศิลาทรายสกุลช่างพะเยากับการสร้างสรรค์สื่อเสมือนจริง” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปี 2563 สาขากลุ่มเรื่องสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาและเล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมล้านนาเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะด้านศิลปะ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา “พระพุทธรูปหินทราย” ถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิง รูปแบบของศิลปะกรรมของพระพุทธรูปหินทรายตระกูลช่างพะเยา โดยการนำมาผสมผสานให้เข้ากับเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในปัจจุบันที่เป็นกระแสและมีความน่าสนใจมากขึ้นจากการพัฒนาและลงทุนในด้าน Metaverse VR หรือ สื่อเสมือนจริง เป็นสื่อมัลติมีเดียรูปแบบเฉพาะตัวที่มีความโดดเด่นในเรื่องการนำเสนอและการถ่ายทอดข้อมูลโดยผู้ใช้งานจะเชื่อมต่อและเชื่อมโยงกับสื่อ โดยผู้ใช้งานจะเข้าไปสู่สื่อที่ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์เหมือนกับการนำตัวเราเข้าไปสู่โลกที่ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่และเชื่อมโยงกับโลกจินตนาการโดยสภาพแวดล้อมและบรรยากาศนั้น ๆ
กระบวนการโฟโตแกรมเมตรี เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมารังวัดวัตถุด้วยเลเซอร์ เกิดจากระยะทาง ที่ตกกระทบบนเป้าหรือพื้นวัตถุ ให้เกิดค่าพิกัดนับหมื่นถึงหลานแสนจุด หรือ เรียกว่า Point cloud สามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเป็นรูปภาพ 3 มิติซึ่งเทคโนโลยีนี้นอกจากจะทำให้สามารถเก็บข้อมูล เรื่องรูปทรง ขนาด วัตถุแล้วยังสามารถเก็บข้อมูลด้านสีและพื้นผิวของวัตถุนั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ ทำให้การเก็บข้อมูลและการศึกษารูปแบบ รวมถึงการจัดหมวดหมู่ของวัตถุและศิลปะสำคัญทางโบราณคดี รวมไปถึงการประยุกต์เพื่อนำมาใช้เก็บข้อมูลรูปแบบของพระพุทธรูปหินทรายตระกูลช่างพะเยา ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของรูปแบบพระพุทธรูปหินทรายของตระกูลช่างพะเยา แบ่งตามหมวด ของพระพุทธรูปตระกูลช่างพะเยา และใช้เทคนิคการนำเสนอจากวิธีการและนวัตกรรมของเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ในรูปแบบสื่อเสมือนจริงที่มีจุดเด่นด้วยการนำเสนองานศิลปะในมุมมองใหม่ ๆ เข้าถึงกลุ่มบุคคลได้มากขึ้น โดยพระพุทธรูปหินทรายที่ผู้วิจัยได้คัดเลือกมาจากพิพิธภัณฑ์วัดลี จังหวัดพะเยา และ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ซึ่งเป็นสองสถานที่สำคัญที่ได้เก็บรักษาวัตถุโบราณเหล่านี้ ซึ่งคัดเลือกพระพุทธรูปที่ใช้ในการเก็บข้อมูลนั้นใช้เกณฑ์เลือกพระพุทธรูปที่มีความสมบูรณ์
การจัดทำงานวิจัยดังกล่าวนี้ถือเป็นการนำเอาศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของถิ่นเมืองพะเยา ในด้านพุทธศิลป์ซึ่งถือเป็นมรดกอันทรงคุณค่าชิ้นเอกของชาวพะเยาที่ได้เริ่มมีการลืมเลือนจางหายตามการเวลาและขาดความสนใจมายาวนาน มาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีด้านสื่อมัลติมีเดียความจริงเสมือนที่มีความตื่นตาตื่นใจ สร้างคุณค่าให้เกิดความน่าสนใจในมรดกทางศิลปะวัฒนธรรมของชาวลุ่มน้ำอิง ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนเสริมงานศิลปะวัฒนธรรม ให้เกิดความทันสมัย สร้างความน่าสนใจและยังเป็นอีกแนวทางที่ช่วยในการผลักดันคุณค่าทางวัฒนธรรม ส่งเสริมรูปแบบการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปของสื่อ